วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยว

                                                                           ปรางค์กู่

ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ชัยภูมิ-บัวใหญ่) ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าปรางค์กู่ตามทางหลวง 2158 เป็นระยะทางอีก 2 กิโลเมตร
ปรางค์กู่เป็นปราสาทหินสมัยขอม ที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็น อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระ ปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกันแต่ลบเลือนไปมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง 1.75 เมตร ประดิษฐานอยู่ โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้การเคารพสักการะ มีการจัดงานประจำปีในช่วงกลางเดือน 5 ของทุกปี

                                                                 ใบเสมาบ้านกุดโง้ง

ใบเสมาบ้านกุดโง้ง เก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสาย กุดตุ้ม-บุ่งคล้า อีก 4 กิโลเมตร ใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา เล่าเรื่องชาดกตอนต่างๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน

                                                                อุทยานแห่งชาติไทรทอง

อุทยานแห่งชาติไทรทอง ครอบคลุมพื้นที่ป่าบนเทือกเขาพังเหย ในอำเภอหนองบัวระเหว เทพสถิต ภักดีชุมพล และหนองบัวแดง มีเนื้อที่ 319 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายสาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ผสมกับป่าเบญจพรรณ มีต้นไผ่รวกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม ภายในเขตอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจคือ

น้ำตกไทรทอง ห่างจากที่ทำการ 1 กิโลเมตรไปตามทางรถยนต์และเดินเท้าอีก 400 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ สูงเพียง 5 เมตรแต่มีความกว้างประมาณ 80 เมตร ด้านหน้าเป็นแอ่งน้ำใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกมีวังน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า วังเงือก สายน้ำไหลไปตามแก่งหินที่ลาดต่ำลงที่ละน้อย มีความยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร

น้ำตกชวนชม อยู่เหนือน้ำตกไทรทองไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 กิโลเมตร น้ำตกมีความสูง 20 เมตร รอบบริเวณมีต้นไม้ร่มรื่น

ผาพ่อเมือง เป็นแนวหน้าผาตามสันเขาพังเหยด้านตะวันตก ตามเส้นทางขึ้นสู่ทุ่งบัวสวรรค์ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-900 เมตร มองลงไปเป็นตัวอำเภอภักดีชุมพลและเทือกเขาพญาฝ่อ ที่กั้นระหว่างชัยภูมิกับเพชรบูรณ์

ผาหำหด ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสันเขาตรงจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 864 เมตร เป็นจุดชมวิวมองเห็นทิวทัศน์สวยงาม และมีชะง่อนหินยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นจุดที่ถ่ายภาพได้สวยงามน่าหวาดเสียว

จุดชมวิวเขาพังเหย อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณกิโลเมตรที่ 70 เป็นที่แวะพักรถยนต์และชมทิวทัศน์ของผืนป่าและแนวสันเขาสลับซับซ้อนของเขาพังเหย เมื่อมองลงไปเบื้องล่างจะเห็นที่ราบภาคกลางในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในช่วงยามเย็นที่อาทิตย์จะอัสดง
อุทยานฯ มีบ้านพักรับรองและสถานที่กางเต็นท์พักแรม และร้านอาหารบริการ ติดต่ออุทยานแห่งชาติไทรทอง ตู้ ปณ. 1 อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ 36230 โทร. 08 9282 3437 www.dnp.go.th

การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณ 65 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางแยกขวาไปที่ทำการอุทยานฯอีก 7 กิโลเมตร

                                                         อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

ตั้งอยู่บนเทือกเขาพังเหย ภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับซับซ้อน ระดับความสูงประมาณ 200-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ มีความหลากหลายของระบบนิเวศและมีไม้ดอกจำพวกดุสิตา เอนอ้าและกล้วยไม้ ขึ้นอยู่จำนวนมาก จุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานได้แก่
ทุ่งดอกกระเจียว หรือ ทุ่งบัวสวรรค์ เหมาะมาเที่ยวชมในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม บนท้องทุ่งหญ้าเพ็กสีเขียวจะมีดอกกระเจียวสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมอยู่ทั่วไป มองดูสวยงามมาก ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 1 กิโลเมตร

ลานหินงาม เป็นบริเวณที่มีโขดใหญ่รูปร่างแปลกๆ กระจายอยู่เต็มไปหมดในเนื้อที่กว่า 10ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อดินและหินเป็นรูปลักษณ์แตกต่างกัน สามารถจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ เช่น หินรูปตะปู รูปเรด้าร์ รูปแม่ไก่ รูปถ้วยฟีฟ่า ฯลฯ



 
                                                                          มอหินขาว

มอหินขาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตั้งอยู่ที่บ้านวังคำแคน หมู่ 9 ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง เป็นกลุ่มหินทรายสีขาวขนาดใหญ่กลางทุ่งหญ้าบนเนินเขา มองเห็นได้เด่นชัดในระยะไกล ลักษณะคล้ายสโตนเฮ็นจ์ (Stonehenge) ของประเทศอังกฤษ มีอายุระหว่าง 197-175 ล้านปี เกิดจากการสะสมของตะกอนทรายแป้ง และดินเหนียวจากทางน้ำ ต่อมาสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง การตกตะกอนเปลี่ยนเป็นทราย ในสภาวะอากาศแบบแห้งแล้งกึ่งร้อนชื้น ทับถมลงบนตะกอนทรายแป้งและดินเหนียวที่เกิดก่อน จึงแข็งตัวกลายเป็นหิน หลังจาก 65 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกจากแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก ผุพังและการกัดเซาะทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ก่อให้เกิดลักษณะของเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามจินตนาการของผู้พบเห็น บริเวณรอบๆนั้นยังมีกลุ่มหินอีกหลายแห่งซึ่งสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ศึกษาสังคมของพันธุ์พืชต่างๆ สัตว์ป่าขนาดเล็ก แมลงและเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธารภูแลนคาซึ่งชาวบ้านทำฝายกั้นน้ำกักเก็บไว้ใช้
การเดินทางไปชมแหล่งท่องเที่ยวผามอหินขาว จากตัวจังหวัดชัยภูมิ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2051 ถนนสายชัยภูมิ – ตาดโตน เป็นทางลาดยางระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายก่อนถึงด่านของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ตามถนนตาดโตน – ท่าหินโงม เป็นทางลาดยางประมาณ 12 กิโลเมตร แยกซ้ายตามถนนแจ้งเจริญ – โสกเชือก เป็นทางลูกรัง ระยะทาง 6.5 กิโลเมตรถึงบ้านวังคำแคน จากนั้นเลี้ยวขวาตรงบ้านวังคำแคน เป็นทางลูกรังใช้สำหรับขนพืชไร่อีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร ถึง กลุ่มหินชุดแรกของ มอหินขาว รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรจากตัวเมือง ในช่วงฤดูฝนควรใช้รถยนต์ประเภทรถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพื่อความเหมาะสมกับเส้นทาง ถัดจากกลุ่มหินชุดแรกไปเล็กน้อยจะถึงบริเวณลานกางเต็นท์ มีห้องน้ำบริการ จากจุดนี้มีเส้นทางเดินไปยังกลุ่มหินและจุดชมวิว ได้แก่ หินเจดีย์โขลงช้าง ระยะทางเดินเท้า 650 เมตร ลานหินต้นไทร 900 เมตร สวนหินล้านปี 1,250 เมตร และจุดชมวิวผาหัวนาค 2,500 เมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น